สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค นั้นจะต้องเป็นหนี้ที่บังคับได้

การกระทำความผิดตาม พรบ.เช็คนั้น จะต้องมีหนี้ต่อกันตามกฎหมาย และหนี้ตามกฎหมายแล้วก็ตาม จะต้องเป็นหนี้ที่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เช่น หากมีการกู้ยืมเงินกันแล้วแต่ไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ไม่ได้สามารถฟ้องร้องคดีแพ่งได้ ดังนั้น เมื่อออกเช็คชำระหนี้ตามหนี้กู้ยืมเงินที่ไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว ย่อมถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นต้น ดังนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 มีดังนี้
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

ทนายความเชียงใหม่ได้ขอนำเสนอคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557 เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4